หนึ่งใน 10 ข้อคิดเรื่องการเงิน ที่ผมอยากบอก คือการจัดการภาษีธุรกิจ ที่เจ้าของธุรกิจหลายคนคิดหาวิธีวางแผนประหยัดภาษีกันแบบง่ายๆ โดยอาศัยจากแนวทางที่คนรอบข้างแนะนำ แต่ที่จริงแล้วนั่นคือความเสี่ยงมากๆ เพราะภาษีเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน การจัดการภาษีแบบทางตรงชัดเจนไม่อ้อมค้อมนี่แหละครับ ที่จะช่วยประหยัดภาษีและค่าใช้จ่ายของธุรกิจได้มากกว่าทางลัด |
โดย TaxBugnoms
นอกจากเรื่องของการบริหารจัดการยอดขาย มองหาช่องทางการเติบโตธุรกิจ หรือ จัดการบริหารงานต่างๆ แล้ว เรื่องการเงินก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับเจ้าของธุรกิจครับ
สำหรับบทความนี้ ผมมี 10 ข้อคิดเรื่องการเงิน สำหรับเจ้าของธุรกิจที่อยากนำมาเล่าให้กับทุกคนฟัง ซึ่งต้องบอกเลยว่ากลั่นกรองมาจากประสบการณ์จริงของตัวเองและคนรอบข้างครับ
เอาละครับ มาดูกันเลยดีกว่าว่า 10 ข้อคิดเรื่องการเงินนี้มีอะไรบ้าง
1. เงินหมุนเวียนคือหัวใจ
จากวิกฤตโควิดที่ผ่านมาในช่วงนี้ รวมถึงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นมา ผมเชื่อว่าหลายคนคงเห็นความสำคัญของการมีเงินหมุนเวียนสำหรับธุรกิจมากขึ้น เพราะว่าการมีเงินหมุนเวียนนั้น ทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ดังนั้นการประมาณการกระแสเงินสดรับและจ่ายจึงเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้สำหรับเจ้าของธุรกิจครับ
โดยวิธีประมาณการกระแสเงินสดรับจ่ายนั้น เราควรจัดทำงบประมาณการขึ้นมาอย่างน้อย 6-12 เดือนล่วงหน้า เพื่อให้เห็นสถานการณ์โดยรวมของธุรกิจก่อน เพราะเราจะได้เตรียมเงินหมุนเวียนไว้ทันเวลาครับ
อ่านวิธีบริหารกระแสเงินสดต่อเลย
เริ่มต้นธุรกิจต้อง บริหารเงินสด อย่างไร (ฉบับเจ้าของธุรกิจมือใหม่)
2. กำไรไม่ใช่เงินสด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายของการทำธุรกิจคือ กำไร (มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย) แต่ในบางครั้ง สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องโฟกัสตามมาด้วยคือ การบริหารจัดการเงินสด เพื่อให้กำไรทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์
ยกตัวอย่างเช่น การขายสินค้าแบบเครดิต (ลูกหนี้การค้า) ถ้าหากไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้ตามระยะเวลา แบบนี้ต่อให้มีกำไร แต่อาจจะไม่มีเงินสดเพียงพอต่อการบริหารจัดการได้เช่นกันครับ
3. ลดเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
การลดค่าใช้จ่ายถือเป็นหัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่งในการเพิ่มกำไรของธุรกิจ แต่สิ่งที่อยากชวนคิดต่อคือ ค่าใช้จ่ายที่กำลังลดนั้น มันเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นต่อธุรกิจของเรา
ในมุมของผมแล้ว ค่าใช้จ่ายจำเป็นคือ ค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต ซึ่งแต่ละธุรกิจควรมีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างกันไป
ยกตัวอย่างเช่น เวลาเกิดวิกฤต สิ่งที่หลายธุรกิจเลือกทำคือลดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากเจ้าของธุรกิจมีวิสัยทัศน์ เลือกลดเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (ในตอนนี้) ย่อมเป็นการดีที่ทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น และสุดท้ายแล้วอาจจะทำให้เกิดกำไรยั่งยืนหลังจากที่วิกฤตผ่านไป
ดังนั้นก่อนจะลดค่าใช้จ่าย ลองถามตัวเองอีกครั้งว่า ค่าใช้จ่ายที่เราลดนั้นมันคือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่ และเรากำลังจะลดมันไปเพื่ออะไรกันแน่
อ่านแนวคิดในการคุมค่าใช้จ่ายต่อเลย
ถ้า ลดต้นทุน และค่าใช้จ่าย ในตอนนี้ ธุรกิจมีผลกระทบอะไรบ้าง?
4. เห็นตัวเลขก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ
ไม่ว่าจะตัดสินใจอะไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ควรมีอยู่เป็นพื้นฐานคือ ตัวเลขที่ช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของรายงาน อัตราส่วน สัดส่วน หรือตัวเปรียบเทียบต่างๆ ก็ย่อมดีกว่าการตัดสินใจโดยสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจลงทุนซื้อสินทรัพย์ใหม่เพื่อใช้ในธุรกิจ อาจจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนในการดูแลรักษา ระยะเวลาการจ่ายชำระหนี้ (กรณีซื้อโดยมีเครดิต) ประสิทธิภาพ และโอกาสสร้างรายได้ประกอบกัน เพราะการลงทุนโดยอาศัยแค่ความรู้สึกหรือสัญชาตญาณนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการเงินของธุรกิจได้อย่างมหาศาล
5. ไม่ใช่แค่ลดภาษี แต่ต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาษีถือเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่เจ้าของธุรกิจหลายคนอยากลด แต่ก็ต้องกลับมาถามตัวเองด้วยว่า ค่าใช้จ่ายในการลดภาษีนั้นเป็นเท่าไร
เพราะมีหลายครั้งหลายคราว ต้นทุนในการจ้างผู้เชี่ยวชาญ ทีมงาน หลักการ หรือจัดการวางแผนธุรกิจทั้งหลายนั้นแพงกว่าภาษีที่ประหยัดได้เสียอีก
6. ค่าใช้จ่ายต่างจากสินทรัพย์
อีกหนึ่งในการตัดสินใจการเงินที่พลาดบ่อยๆ ของเจ้าของธุรกิจคือ การคิดว่าสินทรัพย์กับค่าใช้จ่ายคือเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันมีผลต่อการเงินธุรกิจอย่างมหาศาล
ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาโดยคิดว่าสามารถเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวนในรอบบัญชี (จะได้ลดภาษี หรือลดกำไร) แต่ความจริงแล้ว กลับเป็นสินทรัพย์ที่ต้องทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายตามอายุการใช้งาน (ค่าเสื่อมราคา) แถมยังส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดในระยะสั้น (หากต้องจ่ายเงินก้อน) อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อกำไรในระยะยาว (เพราะเป็นค่าใช้จ่ายหลายรอบบัญชี)
ดังนั้น การวางแผนและทำความเข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหรือจ่ายอะไร จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจไม่ควรพลาดครับ
ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายต่อเลย
ความแตกต่างระหว่าง ค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ และภาษีซื้อ
7. รับมือวิกฤตด้วยงบประมาณ
คำว่างบประมาณในที่นี้หมายถึง 2 ด้าน ด้านแรกคือ งบประมาณที่ต้องจัดทำขึ้นเพื่อวางแผน เช่น งบประมาณกระแสเงินสดรับจ่าย งบประมาณรายรับรายจ่าย (เหมือนในข้อ 1)
และในอีกด้านหนึ่งหมายถึงการจำกัดงบประมาณในการจัดการวิกฤต เช่น ควรจะลงทุนเท่าไรเพื่อจัดการปัญหา และเพดานสูงสุดของค่าใช้จ่ายควรเป็นเท่าไร เพื่อจะได้ไม่กระทบด้านอื่นๆ
เพราะสุดท้ายแล้วหากธุรกิจไปไม่รอด ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าปล่อยให้ชีวิตเจ้าของธุรกิจไม่รอดด้วย อันนี้คงไม่ดีสักเท่าไร
8. การจ่ายผลประโยชน์ต้องชัด
ธุรกิจต้องแยกออกจากเรื่องส่วนตัว ดังนั้น เจ้าของธุรกิจต้องกำหนดผลประโยชน์ของตัวเองที่ได้รับจากธุรกิจให้ชัด ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง คอมมิชชั่น หรือเงินปันผล (ส่วนแบ่งจากกำไร) ว่าควรจะเป็นเท่าไร และควรตอบให้ได้ว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น
เพราะการวางแผนผลประโยชน์ได้อย่างชัดเจน จะทำให้ธุรกิจนั้นรู้ต้นทุนที่แน่นอน ในขณะที่เจ้าของธุรกิจเองก็สามารถอยู่รอดได้อย่างเป็นเอกเทศ ไม่ต้องใช้ประโยชน์แฝงจากธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน
9. หนทางลัดประหยัดภาษีไม่มีจริง
หลายคนคิดวางแผนประหยัดภาษีกันแบบง่ายๆ โดยอาศัยจากแนวทางที่คนรอบข้างแนะนำ แต่นั่นคือความเสี่ยงมากๆ เพราะภาษีเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน การจะทำความเข้าใจและเลือกใช้แนวทางต่างๆ นั้นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในหลายมุมมอง ตั้งแต่ความคุ้มค่า ค่าใช้จ่าย ไปจนถึงเรื่องของความเสี่ยงที่ตามมา
ในฐานะที่ผมทำงานด้านภาษีมานานกว่าสิบปี ผมอยากยืนยันว่า ทางตรงแบบชัดเจนไม่อ้อมค้อมนี่แหละครับ ช่วยประหยัดภาษีและค่าใช้จ่ายของธุรกิจได้มากกว่าทางลัด แถมยังตัดปัญหาเรื่องการถูกเสียภาษีย้อนหลังได้อีกด้วย
10. สิ่งสำคัญที่สุดคือ ระบบบัญชี
สำหรับข้อสุดท้ายนี้ ผมคิดว่าจำเป็นสำหรับธุรกิจที่พร้อมจะใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ไปจนถึงธุรกิจที่ต้องการความถูกต้องในด้านตัวเลขทั้งบัญชีและภาษี เพราะถ้าเราวางระบบบัญชีของธุรกิจไว้ดีตั้งแต่แรก ย่อมจะช่วยให้ธุรกิจเดินทางได้อย่างถูกต้อง และไม่ต้องกลัวปัญหาต่างๆ ตามมาอีกด้วยครับ
สำหรับคนที่อ่านบทความนี้ ในฐานะผู้เริ่มต้นธุรกิจ ผมอยากแนะนำให้คุณใส่ใจแนวคิดเกี่ยวกับระบบบัญชีไว้มากๆ เพราะระบบที่ดีจะช่วยตอบโจทย์ทั้ง 9 ข้อที่ผมว่ามาได้เกือบทั้งหมด ไปจนถึงตอบโจทย์ในการบริหารจัดการของคุณด้วยเช่นกันครับ
แต่สำหรับคนที่ทำธุรกิจมานาน และมีปัญหากับการจัดการข้อมูล ผมเองก็อยากแนะนำให้คุณลองตัดใจ “หักดิบ” สักครั้ง เพื่อเริ่มต้นลงทุนกับการปรับปรุงระบบบัญชีใหม่ เพราะในอนาคตต่อจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นต้องอาศัยข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ ลองเริ่มต้นใช้ระบบบัญชีฟรี จาก FlowAccount ดูครับ
สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนทำธุรกิจ และสามารถนำแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของคุณมากที่สุดครับ
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย