หลังจากที่ได้รู้และเข้าใจหลักการในการหักภาษี ณ ที่จ่ายในสไตล์คนทำธุรกิจเบื้องต้นกันไปในตอนที่แล้ว
ในตอนนี้ เราจะมาอธิบายในกรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายที่แตกต่างกันในแต่ละกรณีให้ดูกันชัด ๆ ไปเลยครับว่า จะต้องหัก หรือไม่หักยังไง เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นครับ
ผู้จ่าย (จ่ายค่าใช้จ่าย) | ผู้รับ (มีรายได้และมีหน้าที่ต้องเสียภาษี) |
---|---|
1.บุคคลธรรมดา | 1.บุคคลธรรมดา |
2.บุคคลธรรมดา | 2.นิติบุคคล |
3.นิติบุคคล | 3.บุคคลธรรมดา |
4.นิติบุคคล | 4.นิติบุคคล |
*หมายเหตุ คำว่า “บุคคลธรรมดา” นั้นเราจะหมายถึงคนอย่างเรา ๆ นายหมี นายหมู นายหมา นายมินิ แต่สำหรับนิติบุคคลนั้น จะมีความหมายถึง ห้างหุ้นส่วน และ บริษัท ที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลนะครับ
สำหรับการจ่ายค่าเช่านี้ ถ้าหากเราแยกเป็น 4 กรณี วิธีดูก็ง่าย ๆ ครับ แค่เปิดตารางเดิมในตอนที่แล้ว
ตารางสรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย – กรมสรรพากร แล้วไล่ดูตามแต่กรณีครับ เรามาเริ่มที่กรณีแรกกันก่อนเลย
- ผู้จ่ายเป็น บุคคลธรรมดา
- ผู้รับเป็น บุคคลธรรมดา
- เงินได้ที่จ่ายคือ ค่าเช่า เงินได้ประเภทที่ 5
จากตารางแรก เราจะเห็นว่า กรณีที่ผู้รับเป็นบุคคลธรรมดานั้น ผู้จ่ายเงินที่มีหน้าที่ หัก ณ ที่จ่าย มีแค่นิติบุคคลเท่านั้นครับ ดังนั้นก็แปลว่า กรณีที่ผู้จ่ายเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเอง ดังนั้นก็ไม่ต้องหักครับ จบข่าว
จากตารางอีกตารางหนึ่ง เราจะเห็นว่า กรณีที่ผู้รับเป็นนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) ผู้จ่ายเงินที่มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ก็จะเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ดังนันแปลว่ากรณีที่บุคคลธรรมดาจ่าย ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกันครับ
สำหรับตัวอย่างที่ 3 และตัวอย่างที่ 4 นั้น ชัดเจนอยู่แล้วในตารางนะครับ ดังนั้นผมขอรวบรัดสรุปตามนี้เลยครับ
ผู้จ่าย (ค่าใช้จ่าย) | ผู้รับ (รายได้) | อัตราภาษี ณ ที่จ่าย |
---|---|---|
1.บุคคลธรรมดา | 1.บุคคลธรรมดา | ไม่ต้องหัก |
2.บุคคลธรรมดา | 2.นิติบุคคล | ไม่ต้องหัก |
3.นิติบุคคล | 3.บุคคลธรรมดา | 5% |
4.นิติบุคคล | 4.นิติบุคคล | 5% |
เห็นไหมครับว่าจริง ๆ แล้วมันง่ายมากเลย เพียงแค่เรารู้เงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ผู้รับ ผู้จ่าย ประเภทเงินได้ จากตามที่กฎหมายกำหนด เพียงแค่นี้เราก็ต้องรู้แล้วครับว่า เรามีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย หรือไม่ เท่านั้นเอง
กรณีที่ธุรกิจของเราเป็นผู้ถูกหักภาษีไว้จะต้องทำยังไงบ้าง?
ในกรณีที่เราเป็นผู้ถูกหักภาษีไว้บ้าง (ผู้มีเงินได้) ผมมีคำแนะนำให้สั้น ๆ ดังนี้ครับ คือ
- เก็บหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้
เพราะเป็นหลักฐานในการยื่นยอดภาษีที่ถูกหักไว้ เพื่อใช้ลดยอดภาษีที่คำนวณได้ หรือใช้ขอคืนกรณีที่ถูกหักไว้เกินกว่าภาษีที่ต้องจ่าย (ถ้าใครสะดวกจะทำสรุปหรือทะเบียนคุมรายละเอียดเอกสาร ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ไว้ได้ยิ่งดีเลยครับ)
- นำรายได้ในส่วนนี้ลงบัญชีบันทึกรายการและเสียภาษีให้ถูกต้อง
เพื่อป้องกันปัญหาในการคำนวณภาษี เพราะว่าข้อมูลนี้ กรมสรรพากรทราบแน่ ๆ ว่าเรามีรายได้ ถ้าหากใครละเลยไม่ยื่น รับรองว่ามีปัญหาแน่นอนครับ
สุดท้ายแล้ว ผมขอฝากไว้อีกอย่างหนึ่งครับว่า
การหัก ณ ที่จ่าย นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องรู้สำหรับคนทำธุรกิจ
เพราะถ้าหากเรามัวแต่รอให้นักบัญชีบอก หรือ ต้องคอยสอบถามอยู่เรื่อย ๆ มันก็คงชักช้าไม่ทันการ และอาจจะเสียโอกาสหรือเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกิจของเราได้เช่นกันครับ ดังนั้นอย่ามองข้ามความสำคัญของเรื่องนี้กันไปนะครับ