คนที่มีธุรกิจครอบครัวเมื่อถึงเวลา ก็ต้องส่งต่อให้เหล่าคนหนุ่มสาวรุ่นถัดไป เพื่อสืบทอดธุรกิจของครอบครัว และปรับกิจการให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ต้องทำอย่างไร คิดถึงเรื่องใดบ้าง ลองมาอ่านบทความนี้ไปพร้อมกันค่ะ |
เมื่อเวลาเปลี่ยนไป โลกเองก็เปลี่ยนตาม ธุรกิจที่คนรุ่นพ่อแม่เคยทำไว้ดีแล้วในอดีต ในปัจจุบันอาจจะต้องปรับใหม่ เพื่อให้ทันสมัยและเข้าใจลูกค้าในยุคนี้มากยิ่งขึ้น
สำหรับคนที่มีธุรกิจครอบครัว เมื่อถึงเวลา ก็ต้องส่งต่อให้เหล่าคนหนุ่มสาวรุ่นถัดไป เพื่อสืบทอดธุรกิจของครอบครัว และปรับกิจการให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ต้องทำอย่างไร คิดถึงเรื่องใดบ้าง ลองมาอ่านบทความนี้ไปพร้อมกันค่ะ
จุดไหนที่เรียกว่าถึงเวลาที่เราต้องวางมือ
คนเป็นพ่อแม่ที่ดูแลธุรกิจมาตลอดชีวิต แน่นอนว่าต้องหวงแหนกิจการเป็นอย่างมาก และอาจจะตัดใจสินใจลำบากถ้าต้องวางมือ
แต่อย่างที่ทุกคนรู้กันดี เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน สภาพแวดล้อมหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลง คนรุ่นก่อนอาจตามโลกยุคใหม่ไม่ทัน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีเอย ไหนจะเรื่องการทำการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สุดท้ายก็ต้องวางมือให้กับรุ่นถัดไปเข้ามาดูแลค่ะ
แล้วเราจะมีจุดไหนบ้างนะ ที่บ่งบอกว่า เราควรส่งต่อการบริหารกิจการให้กับรุ่นถัดไปได้แล้ว FlowAccount สรุปไว้สั้นๆ 3 ข้อตามนี้
1. บริษัทไม่เติบโต แถมยังถดถอยไปเรื่อยๆ
ถ้าอยากรู้ว่าธุรกิจยังดีอยู่ไหม เราเช็กกันง่ายๆที่งบการเงินค่ะ สองเรื่องที่แนะนำให้เช็กก็คือ
- รายได้ ในงบกำไรขาดทุน เติบโตขึ้นหรือไม่
- ส่วนของเจ้าของ ในงบฐานะการเงิน เติบโตขึ้นหรือเปล่า
ถ้าเราเช็กแล้วพบว่าตัวเลขรายได้ทรงตัว หรือถดถอย แถมส่วนของเจ้าของก็ไม่ได้ไปหน้ามาหลังเลย แบบนี้ อาจหมายถึง กิจการของเราอาจกำลังตกเทรน หรืออาจตามกระแสธุรกิจยุคใหม่ไม่ทันก็เป็นได้ เพราะฐานลูกค้าเดิมอาจปันใจ และลูกค้าใหม่ก็ไม่ได้มีเยอะเท่าที่ควร
2. สภาพคล่องหดหาย หนี้สินเพิ่มพูน
สำหรับสภาพคล่องเอง ดูง่ายๆ จากงบแสดงฐานะการเงิน โดยเทียบระหว่าง สินทรัพย์หมุนเวียน กับ หนี้สินหมุนเวียน หากสินทรัพย์หมุนเวียนนั้นน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียนแล้วล่ะก็ ต้องตั้งข้อสงสัยแล้วล่ะค่ะว่า ทุกวันนี้เราบริหารกิจการได้ดีเท่าที่ควรหรือไม่ หรือถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจฉับไวกว่ามาช่วยกอบกู้กิจการ
3. จิตใจห่อเหี่ยว ไม่อยากจะทำต่อ
เรื่องจิตใจ ก็เป็นอีกหนึ่งมุมที่สำคัญนะ หลายคนทำธุรกิจมานาน ท้อแท้ และรู้สึกเบื่อ บางคนอาจจะถึงขั้นเกิดภาวะหมดไฟ หากใครที่ เกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่ายใจ ทำไปก็ไม่มีความสุข การส่งมอบกิจการให้กับรุ่นถัดไป แล้วปล่อยวางจากกิจการ ไปใช้ชีวิตสบายๆ แบบไม่คิดมาก ก็เป็นทางออกที่ดีค่ะ
ขั้นตอนโอนหุ้นให้กับลูกขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
เอาล่ะ พอเราตัดสินใจกับตัวเองได้แล้วว่าอยากส่งต่อความเป็นเจ้าของธุรกิจให้กับรุ่นลูกหลาน สิ่งที่ต้องทำในลำดับถัดไปก็คือ ทำทุกอย่างให้ชัดเจนตามข้อกฎหมาย นั่นก็คือ การเปลี่ยน ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นรุ่นลูก
ขั้นตอนที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นบริษัทมีดังนี้
- ทำสัญญาซื้อ-ขาย หรือโอนหุ้น ให้กับลูก
- จดเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในสมุดบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น และออกใบหุ้น/แก้ไขใบหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นใหม่ (ผู้รับโอนหุ้น)
- แจ้งการเปลี่ยนแปลง บอจ.5 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการโอนหุ้น หรือการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นแล้วจ้า
ขั้นตอนการเปลี่ยนกรรมการบริษัท
การจะส่งต่อธุรกิจให้ลูก โอนแค่หุ้นอาจจะไม่พอ หากต้องการส่งต่อจริง ก็ต้องส่งต่ออำนาจในการบริหารไปด้วย ซึ่งในที่นี้ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการของบริษัทนั่นเอง
เนื่องจากกรรมการบริษัท ถือเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายในการบริหารบริษัท ดังนั้นจึงมีอำนาจในการวางนโยบายและลงนามต่างๆ ค่ะ
การเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการ สามารถทำได้ดังนี้
- จัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยให้มีมติเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการ / อำนาจกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยมติประชุมผู้ถือหุ้นเช่นกัน
- จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการ / อำนาจกรรมการ ผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เพียงเท่านี้ เราก็สามารถถ่ายโอนอำนาจการบริหารงานไปสู่รุ่นลูกได้แล้ว
วางระบบอย่างไร ให้ส่งต่อกิจการแบบไม่ติดขัด
เมื่อเราพอจะรู้แล้วว่า เราจะวางมือ และส่งต่อกิจการให้รุ่นลูกตอนไหน สิ่งสำคัญที่ต้องดูต่อไปคือ การวางระบบบัญชีให้ดีเพื่อไม่ให้รุ่นถัดไปต้องมาปวดหัว (เหมือนกับรุ่นเรา ฮ่าๆ)
เรื่องนี้ถ้าจะให้เล่าถึงรายละเอียด เชื่อได้ว่าคงต้องจ้างที่ปรึกษากันเลยล่ะ แต่ในภาพรวม แนะนำให้โฟกัส 3 เรื่องนี้เป็นหลักค่ะ
- วางระบบทางเดินเอกสาร โดยถ้าจะให้คนที่มารับช่วงต่อไม่งงกับระบบของกิจการ กิจการควรมีชุดเอกสาร ที่เป็นระบบ ไม่ขาดตอน เพื่อให้รุ่นลูกมาทำงานต่อได้แบบไม่ยุ่งยากมากนัก
- วางระบบบัญชี โดยระบบบัญชีที่เรามักจะพบเห็นกันบ่อยๆ เช่น วงจรรายได้ วงจรค่าใช้จ่าย วงจรสินค้า วงจรเงินเดือน เป็นต้น ซึ่งพื้นฐานวงจรเหล่านี้ อันที่จริงก็มีแต่เดิมอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องเขียน และเรียบเรียงออกมาให้เข้าใจง่ายเพื่อให้รุ่นลูกไม่งง เช่น เขียนออกมาในรูปแบบ Flow Chart เป็นต้น
- วางระบบโปรแกรมบัญชี เรื่องนี้มักจะเป็นปัญหา ที่คนนอกไม่รู้ แต่คนในจะรู้ดี เพราะบางทีระบบบัญชีที่ใช้อยู่อาจไม่ตอบโจทย์โลกอนาคตอีกต่อไป สิ่งที่เราเตรียมตัวได้ก็คือ พยายามทำให้คนในบริษัทพร้อมรับมือสำหรับการเปลี่ยนแปลง เช่น เตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อรองรับกรณีต้องการเปลี่ยนแปลงโปรแกรมบัญชีให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
สรุป
การวางมือจากธุรกิจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป สำหรับรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ทำงานมาทั้งชีวิต ถ้ามองในแง่ดี นี่คือการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อธุรกิจให้รุ่งเรืองและทันสมัยมากยิ่งขึ้นค่ะ แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับการวางมือ ก็คือ การเตรียมพร้อมในการส่งไม้ต่ออย่าง Smooth as Silk เพื่อที่ว่าเราจะได้วางใจกับธุรกิจนี้ได้ แล้วไปพักผ่อนเป็นที่ปรึกษาดูการเติบโตอยู่ห่างๆ นะคะ
อ้างอิง
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่