การใช้บริการของ Google Workspace ในธุรกิจ SMEs นั้น จริงๆแล้วมีใครทราบบ้างว่ามีภาษีใดที่เกี่ยวข้องบ้าง แต่ก่อนอื่นต้องเช็กกันก่อนนะคะว่าธุรกิจของเราซื้อบริการนี้จากใครค่ะ เพราะการซื้อจาก Google ที่ตั้งอยู่ต่างประเทศโดยตรง กับการซื้อจาก Reseller ในประเทศไทย มีภาษีที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันค่ะ |
ก่อนอื่นต้องเกิร่นนำก่อนว่า ถ้าใครมีบิล Google Workspace หยิบขึ้นมาดู เพื่อเช็กก่อนค่ะว่าธุรกิจของเราซื้อบริการนี้จากผู้ให้บริการแบบไหน จาก Google ในต่างประเทศโดยตรง หรือ ผู้ขายที่เป็นเสมือนตัวแทนจำหน่ายในไทย (Reseller) เพราะการซื้อทั้ง 2 แบบนี้มีภาษีที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันออกไปค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
กรณีที่ 1 เมื่อซื้อ Google Workspace จาก Google ต่างประเทศ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
รู้หรือไม่คะว่า กรณีนี้ถือเป็นการ “นำเข้าบริการ” สังเกตตามนิยามได้จากการที่บริษัทใช้บริการ Google Workspace ในประเทศไทย แต่ผู้ให้บริการคือ Google ที่ให้บริการที่ต่างประเทศ ถ้าหากทุกท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็จะมีกฎหมาย e-Service เข้ามาเกี่ยวข้องค่ะ
กฎหมายนี้เข้ามาจัดเก็บภาษี VAT จากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย แน่นอนว่าครอบคลุม Google Workspace ค่ะ เล่าให้ฟังแบบกระชับๆ ว่าผู้ให้บริการในต่างประเทศนั้นจะต้องเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย ประมาณว่าถ้าเค้าอยากหาลูกค้า มีรายได้ในประเทศไทยก็ต้องทำตามที่กฎหมายท้องถิ่นกำหนดค่ะ
หลังจากเข้ามาจดทะเบียนในไทยแล้ว ก็จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากรเฉพาะส่วนที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นค่ะ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม มีหน้าที่แจ้งกับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในราคาค่าบริการของกิจการค่ะ แต่จะเป็นการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเองผ่านแบบ ภ.พ.36 ที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.36 นี้ กิจการสามารถนำใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากรมาใช้เป็นภาษีซื้อในเดือนถัดไปได้เลยนะคะ
จะเห็นได้ว่าเน้นย้ำภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าบริการเป็น ภ.พ.36 ค่ะ
- ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.54)
ถัดมาจะเป็นภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.54) ค่ะ ภาษีนี้เป็นแบบยื่นรายการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจำหน่ายเงินกำไรตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายแล้ว ภ.ง.ด.54 จะเกิดจากบริษัทในประเทศไทยจ่ายเงินได้ตามมาตรา 70 ได้แก่ 40(2 - 6) หรือการจำหน่ายกำไรให้แก่ ผู้รับเงินที่เป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฏหมายต่างประเทศ แต่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทยค่ะ อธิบายเพิ่มเติมอีกสักนิดค่ะ เงินได้ตามมาตรา 70 ที่จ่ายออกไปจากประเทศไทยคืออะไรกันบ้าง
- 40 (2) ก็จะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า เป็นต้น
- 40 (3) จะเกี่ยวกับ ค่าสิทธิในสิทธิบัตร สูตร หรือกรรมวิธี ค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น
- 40 (4) นั้นหมายถึง ดอกเบี้ย หรือ เงินปันผล
- 40 (5) คือ ค่าเช่า
- 40 (6) หรือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
จะเห็นได้เลยว่าค่าบริการอย่าง Google Workspace ตามการตีความจะถือเป็นค่าสิทธิ์ หรือเงินได้ตามมาตรา 40(3) ที่เข้าข่ายตาม ภ.ง.ด.54 และส่งกรมสรรพากร โดยปกติแล้วหากมีการชำระเงินได้ไปยังต่างประเทศผู้ชำระมีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย 15% ของค่าบริการ แต่อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายอาจลดลงได้ให้พิจารณาอนุสัญญาภาษีซ้อนเพิ่มเติมนะคะ
หลังจากนี้มาดูวิธีการแจ้งว่ากิจการของเราเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกันค่ะ ว่ามีวิธีอย่างไร
วิธีแจ้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
วิธีแจ้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีให้กับ Google ที่เมื่อเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะได้ไม่ถูกเรียกเก็บจาก Google Workspace แต่จะเป็นเพียงการยื่นนำส่ง ภ.พ.36 ให้กับกรมสรรพากรด้วยตนเอง ซึ่งวิธีแจ้งหมายเลขจะขึ้นอยู่กับวิธีการชำระเงินค่าบริการค่ะ แบ่งออกเป็น 2 แบบดังนี้นะคะ
- กรณีชำระด้วยระบบหักเงินโดยอัตโนมัติ สามารถกดที่ “การตั้งค่าการชำระเงิน” แล้วทำตามขั้นตอนในหัวข้ออัปเดตข้อมูลภาษี ได้เลยค่ะ
- ส่วนกรณีชําระโดยใช้ใบแจ้งหนี้รายเดือน สามารถติดต่อ การสนับสนุนของ Google Workspace เพื่อส่งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ได้เช่นกันนะคะ
กรณีที่ 2 เมื่อซื้อ Google Workspace จากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
แล้วถ้าหากเป็นการซื้อ Google Workspace จากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ภาษีที่เกี่ยวข้องจะประกอบด้วย 2 ภาษีหลักๆ ดังนี้ค่า
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) การซื้อ Google Workspace จากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องชำระค่าบริการที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% ของราคาบริการเข้าไปด้วยค่ะ ทั่วไปแล้ว ราคาที่ตัวแทนจำหน่ายประกาศขายส่วนมากจะรวม VAT ในราคาขายที่แสดงอยู่แล้วค่ะ ผู้ประกอบการที่สนใจซื้อก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการคำนวณภาษีส่วนนี้นะคะ แถมผู้ซื้อจะได้รับใบกำกับภาษีที่แสดงจำนวนภาษีซื้อที่ชำระแล้วและนำไปใช้เป็นเครดิตภาษีซื้อได้ด้วยนะคะ อ๊ะๆ เน้นย้ำว่าผู้ประกอบการที่สามารถใช้ภาษีซื้อได้นั้นจะต้องอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้นนะคะ
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (WHT) ถ้าหากผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากค่าบริการที่ชำระให้กับตัวแทนจำหน่าย Google Workspace ในประเทศไทยด้วยนะคะ การหักภาษี ณ ที่จ่ายจะขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวแทนจำหน่ายว่าเป็นนิติบุคคล หรือ บุคคลธรรมดาค่ะ เพราะถ้าหากเป็นนิติบุคคลจะต้องยื่นนำส่ง ภ.ง.ด.53 และถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะเป็น ภ.ง.ด.3 นั่นเองค่ะ
ฝากไว้เพิ่มเติมนะคะ ภาษีศุลกากรในกรณีของ Google Workspace ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ การประเมินภาษีศุลกากรมักจะไม่เกี่ยวข้องเนื่องจากไม่ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุที่จับต้องได้นั่นเองค่า
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนได้ทบกวนกันนะคะว่า ในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ใช้ Google Workspace มีหน้าที่ทางภาษีใดที่เกี่ยวข้อง และต้องยื่นเป็นประจำทุกเดือนกันบ้างนะคะ หากใครเข้าใจดังนี้แล้ว ก็นำไปปรับใช้ในกิจการกันนะค้า
About Author
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA Thailand) เจ้าของเพจ “Chalitta Accounting” มีประสบการณ์ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษีแก่ผู้ประกอบการ SMEs
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนของ FlowAccount ได้ที่นี่