หลังจากที่เขียนมาทั้งหมด 4 ตอนต่อกัน ตอนนี้ก็ถึงตอนสุดท้ายที่จะเป็นบทสรุปของบทความเข้าใจเรื่อง “กำไร” ก่อนจะไปเสียภาษีแล้ว ทำอย่างไรให้กำไรสุทธิทางภาษีของกิจการต่ำที่สุด เพื่อที่จะช่วยให้เรา ประหยัดภาษี ได้สูงสุด สิ่งที่ต้องเริ่มต้นในการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคล นั่นคือ ทำให้กำไรต่ำที่สุดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และประเด็นแรกที่ผมอยากให้พิจารณา นั่นคือ การเริ่มต้นจากการบันทึกรายการทางบัญชีให้ถูกต้องครับ |
“พี่หนอมครับ เอาแบบนี้ดีกว่าพี่ พี่ช่วยสรุปมาเลยว่าถ้าผมอยากจะ ประหยัดภาษี ต้องทำยังไงบ้าง เอาง่าย ๆ สั้น ๆ แบบเจนวายนะครับ ผมไม่ค่อยมีเวลามากเท่าไร”
“ได้ครับ จัดให้” แต่ยังไงช่วยไปอ่านบทความตอนที่ 1 – 4 ย้อนหลังก่อนนะ จะได้เข้าใจ ไม่งั้นสรุปไปถ้านึกไม่ออกก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ฮ่า ๆ
เอาล่ะครับ…. หลังจากที่เขียนมาทั้งหมด 4 ตอนต่อกัน ตอนนี้ก็ถึงตอนสุดท้ายที่จะเป็นบทสรุปของบทความเข้าใจเรื่อง “กำไร” ก่อนจะไปเสียภาษีแล้วล่ะครับ โดยผมจะให้เทคนิคง่าย ๆ 3 ข้อ เพื่อทบทวนอีกทีครับว่า
ทำอย่างไรให้กำไรสุทธิทางภาษีของกิจการต่ำที่สุด เพื่อที่จะช่วยให้เรา ประหยัดภาษี ได้สูงสุด
สิ่งที่ต้องเริ่มต้นในการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคล นั่นคือ ทำให้กำไรต่ำที่สุดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และประเด็นแรกที่ผมอยากให้พิจารณา นั่นคือ การเริ่มต้นจากการบันทึกรายการทางบัญชีให้ถูกต้องครับ
เลือกอ่านได้เลย!
1. บันทึกรายการทางบัญชีให้ถูกต้อง
โดยคำว่าถูกต้องของผมนั้น หมายความรวมถึงคำว่า “ครบถ้วน” ด้วยครับ เพราะรายการที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ควรนำมาบันทึกบัญชีไว้ เราจะได้ตรวจสอบได้ว่าธุรกิจเรานั้นมีกำไรและขาดทุนจริง ๆ เท่าไร เพื่อให้เข้าใจฝีมือในการบริหารจัดการธุรกิจของเรา เพราะก่อนที่จะวางแผนภาษี ธุรกิจเราควรจะอยู่รอดก่อนครับ
เทคนิคตรงนี้มีเพิ่มเติมเรื่องการลดงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงด้วยครับ นั่นคือ กรณีที่มีรายการค่าใช้จ่ายต้องห้าม ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ หรือรายจ่ายส่วนตัวที่เรารู้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นทีต้องเอามาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีครับ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเสียเวลา และสุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรในเรื่องภาษีอยู่ดีครับ
2. บริหารจัดการภาษีในสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
หลังจากที่เรามองภาพรวมของกำไรเบื้องต้นออกแล้ว สิ่งทีต้องบริหารจัดการต่อมาคือสิทธิประโยชน์ในการจัดการภาษีครับ ซึ่งจากรายการที่เล่ามาทั้งหมด 4 รายการ ในตอนที่ 2-4 จะเห็นว่าตัวช่วยเดียวที่พอจะเกี่ยวข้องและมีประโยชน์จริง ๆ คือ สิทธิประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายได้เพิมขึ้น โดยถ้าอ้างอิงจากรูปในตอนที่ 4 จากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล จะเห็นว่ามีรายการต่าง ๆ ให้เลือกใช้มากมาย ได้แก่ รายจ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับลูกจ้าง การลงทุนในสินทรัพย์ การจ้างงานบุคคลพิเศษ (ผู้สูงอายุ นักศึกษา คนพิการ) รวมถึงการบริจาคต่าง ๆ
ดูภาพขนาดใหญ่ได้ที่นี่
3. คำนวณภาษีให้ถูกต้อง และจ่ายให้ตรงกำหนดเวลา
อ่านมาถึงข้อนี้ ใครหลายคนคงคิดว่า เฮ้ย มันง่าย ๆ แค่นี้เองเหรอ ใช่ครับ มันมีแค่นี้แหละครับ เพราะว่าการคำนวณภาษีได้ถูกต้อง จะมีผลเรื่องของการ ประหยัดภาษี แน่นอนครับ ตั้งแต่อัตราภาษีที่เลือกใช้ตามประเภทของกิจการที่แตกต่างกันไป เช่น ธุรกิจขนาดเล็กหรือ SMEs ที่มีทุนชำระไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาทจะได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า (เรื่องนี้จะอธิบายขยายความในหัวข้อ “อัตราภาษี” ที่จะเขียนถึงในอนาคตครับ)
ส่วนเรื่องของการจ่ายให้ตรงกำหนดเวลานั้น ช่วยประหยัดภาษีได้แน่นอนจากการที่กิจการเราไม่ต้องเสีย “เบี้ยปรับ” และ “เงินเพิ่ม” ที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมกรณีจ่ายล่าช้าหรือไม่ครบถ้วนนั่นเองครับ
“โหววว พี่หนอม ไม่เห็นมีเทคนิคดี ๆ เจ๋ง ๆ ซับซ้อน อย่างที่คนเขาสอนกันเลย” น้องคนเดิมเจ้าเก่ายังคงเอ่ยปากเหน็บแนมผมเบา ๆ หลังจากที่ได้รู้เทคนิคที่ผมแนะนำ
“หลาย ๆ คนมักจะหาทางลัด หรือทำทุกทางเพื่อ ประหยัดภาษี แต่รู้ไหมว่าบางที ค่าใช้จ่ายพวกนี้ แพงกว่าภาษีที่เราต้องจ่ายเสียอีกนะ”
ผมตอบไปจากประสบการณ์ และหวังว่าเขาจะรู้ได้ว่าจริง ๆ แล้วแก่นที่สำคัญที่สุดในการวางแผนภาษี คือ การทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและเลือกใช้สิทธิที่ให้ประโยชน์ตามความเป็นจริงนั่นเอง
ตอนนี้บทความในหัวข้อ “เข้าใจเรื่อง “กำไร” ก่อนจะไปเสียภาษีของผม” ก็เดินทางมาถึงตอนจบแล้วล่ะครับ หวังว่าทั้ง 5 ตอนนี้จะช่วยให้ใครหลายคนเข้าใจในเรื่องของการวางแผนภาษีสำหรับการทำธุรกิจมากขึ้นด้วยนะครับ หลังจากนี้ในตอนต่อ ๆ ไปจะเป็นเรื่องของภาษีต่าง ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับธุรกิจ ที่จะนำมาฝากกันเรื่อย ๆ ครับผม ยังไงก็ฝากติดตามกันต่อไปด้วยนะครับ รับประกันว่าได้รับความรู้เรื่องภาษีอย่างทั่วถึงแน่นอนครับ